วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.30 น. นางจำเริญสุข ภู่ดอก ผู้อำนวยการกลุ่มอำนวยการ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนางจิราภรณ์ เรืองรักษ์ รอง ผอ.สพป.นศ.2 ร่วมประชุมการขับเคลื่อนการดูแลความสงบและความปลอดภัยในสถานศึกษา ของหน่วยงานการศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช ณ ห้องประชุมศรีปราชญ์ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายสันติภัทร โคจีจุน ศึกษาธิการจังหวัด และนายยงศักดิ์ เชาวน์วุฒิกุล ผอ.สพป.นครศรีธรรมราช เขต 1 เป็นประธาน ร่วมกับตัวแทนหน่วยงานการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษา จำนวนกว่า 20 คน ซึ่งสรุปการดำเนินงานตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 นายกรัฐมนตรีเสนอว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 กำหนดให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐจัดให้มีเวรรักษาการณ์ประจำสถานที่ราชการหรือหน่วยงานนอกเวลาราชการและในวันหยุดราชการ พบว่า ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการที่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับปัจจุบัน มีบุคคลและเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยแทนได้ อีกทั้ง การให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่เวรรักษาการณ์ในสถานศึกษายังอาจเป็นการกำหนดหน้าที่ที่เพิ่มความเสี่ยงให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยไม่จำเป็น คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ (สถานศึกษาในสังกัด) ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 โดยที่ประชุมได้ประชุมวิธีการดำเนินการ ในส่วนของในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ให้ สพป.นครศรีธรรมราช เขต 1 เป็นผู้รวบรวมข้อมูลรายงาน ซึ่งผลจากการประชุม สรุปการดำเนินการได้ ดังนี้ 1. สถานศึกษาดำเนินการประชุมกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน 2. ประสานเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการดูแลรักษาความสงบและความปลอดภัย 3. สำรวจความปลอดภัยอาคารสถานที่ เช่น ประตู หน้าต่าง ไฟฟ้า ต่าง ๆ ให้มีความแข็งแรง 4. ติดตั้งกล้องวงจรปิด 5. จัดหาหรือจัดจ้างยาม รพภ. หรือนักการ ภารโรง 6. ประสานตำรวจ ติดตั้ง ตู้แดงในสถานศึกษา เพื่อตรวจตรา ดูแลความปลอดภัย 7. จัดทำแผนเผชิญเหตุ ของสถานศึกษา



