นักเรียน ครู ผู้ปกครอง ท.พศ. จัดกิจกรรมทิ่มเม่า บอกเล่าวิถีชุมชนคนทุ่งควาย
..**//วันที่ 22 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายสุชาติพงษ์ ทรงทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสุรทิน ทิพย์อักษร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต 2 (ผอ.สพป.นศ.2) เป็นประธานเปิดโครงการโรงเรียนพอเพียงในกิจกรรมสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมตามวิถีชีวิตของท้องถิ่น ประกอบกด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับข้าว กิจกรรมทิ่มเม่า สาธิตการทำขนมจากข้าวเม่า การแข่งขันขูดมะพร้าวลีลา และจัดจำหน่ายข้าวเม่า และข้าวปลอดสารพิษจากชุมชนคนทุ่งควาย ณ โรงเรียนวัดทุ่งควายพัฒนาศึกษา อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
..**//นางดรุณี สุวรรณชาตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดทุ่งควายพัฒนศึกษา กล่าวว่าการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมผ่านกิจกรรม “ท.พศ.ทิ่มเม่า บอกเล่าวิถีชุมชนคนทุ่งควาย” ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองและนักเรียน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ (Active Learning) ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อส่งเสริมทักษะชีวิตและทักษะงานอาชีพของนักเรียน เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่เด็กและเยาวชนของชุมชน ให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานไว้ คือ สืบสาน รักษา และต่อยอด
..**//ด้านนายสุชาติพงษ์ ทรงทอง รอง ผอ.สพป.นศ.2 กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเพณีการทิ่มข้าวเม่า เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว มีทั้งการร้องรำ แข่งขันการตำข้าวเม่าอย่างสนุกสนานรื่นเริงเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชนเมื่อทำนาเสร็จผ่านเวลาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ปัจจุบันการตำข้าวเม่ากำลังจะสูญหายเนื่องจากสังคมเกษตรกรรมกำลังเปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันจึงรวมตัวเพื่อสร้างสัมพันธ์ความรักสามัคคีกันในเครือญาติและเพื่อนบ้าน ซึ่งประเพณีทิ่มเม่าของหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงยึดถือเอาไว้ เนื่องจากยังคงมีพื้นที่ทำนาทำไร่และมีความผูกพันกับนาข้าว การทิ่มเม่าจึงถือเป็นการสานสัมพันธ์ได้อย่างดีโดยเฉพาะเวลาทิ่มเม่า หรือตำเม่า ต้องอาศัยความชำนาญ เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมการทำข้าวเม่าไว้ให้ลูกหลานรุ่นหลังได้สืบทอดและระลึกถึงวัฒนธรรมโบราณที่มีค่า อีกทั้งยังส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นหลังได้อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมการทิ่มเม่าเอาไว้
..**//ที่สำคัญกิจกรรมโครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ใช้วิถีชีวิตในชุมชน ฝึกทักษะอาชีพ และนำมาบูรณาการให้เกิดทักษะทางวิชาการตามหลักสูตร นำไปใช้เป็นทักษะในการดำเนินชีวิต ทั้งยังสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนให้มีความรักความภูมิใจในท้องถิ่นของตนได้เป็นอย่างดี